ลักษณะทั่วไป
สิงโตเป็นเสือขนาดใหญ่ ขนสั้นเกรียนสีน้ำตาลอ่อน บางตัวอาจมีสีออกเทาเงิน หรือบางตัวก็มีสีอมแดง หรือถึงน้ำตาลแดง ใบหน้ากว้าง ปากค่อนข้างยาว จมูกมักมีสีดำสนิท ม่านตาสีเหลืองหรืออำพัน รูม่านตากลม หูสั้นกลม หลังหูดำ ขาหน้าใหญ่และแข็งแรงกว่าขาหลัง อุ้งตีนกว้าง หางค่อนข้างยาว ปลายหางเป็นพู่สีดำ และมักมีสิ่งคล้ายเดือยแข็งอยู่อันหนึ่งซ่อนอยู่ภายในพู่หางด้วย
สิงโตเป็นสัตว์ตระกูลแมวที่มีความแตกต่างระหว่างเพศชัดเจนที่สุด ตัวผู้มีแผงคอซึ่งเป็นขนยาวหนาขึ้นบริเวณรอบคอและหัวไหล่อย่างหนาแน่นจนกลบใบหูมิด ขนแผงคอสีน้ำตาลอ่อนจนถึงสีดำ บางชนิดขนแผงคอลามไปจนถึงท้อง แผงคอของสิงโตตัวผู้แต่ละพันธุ์ต่างกันมากในแต่ละพื้นที่ พวกที่อยู่ตอนบนสุดและล่างสุดของเขตกระจายพันธุ์มีแผงคอใหญ่และดกมาก อาจลามไปถึงหลังและใต้ท้อง ขนช่วยให้สิงโตมีขนาดใหญ่โตขึ้นแต่ไม่เพิ่มน้ำหนักให้มากนัก คาดว่ามีไว้เพื่อจำแนกเพศและแสดงสถานะของวัย และเพื่ออวดตัวเมียถึงความแข็งแกร่งห้าวหาญสมชาย และอาจมีประโยชน์ในการป้องกันหัวและคอในระหว่างการต่อสู้ สิงโตตัวเมียมีขนาดเล็กกว่าตัวผู้มาก (20-50%) และไม่มีแผงคอ แผงคอของสิงโตมีลักษณะต่างกันไปในแต่ละตัวด้วย
สิงโตในอดีต
สิงโตปรากฏขึ้นเป็นครั้งแรกที่ยุโรปเมื่อราว 600,000 ปีที่แล้ว สิงโตในยุคนั้นมีขนาดใหญ่กว่าสิงโตปัจจุบัน 25 เปอร์เซ็นต์ คาดว่าเป็นสัตว์ตระกูลแมวที่ใหญ่ที่สุดที่เคยมีมาบนโลก มีชื่อว่า สิงโตถ้ำยุโรป (Panthera leo spelaea) สิงโตพันธุ์นี้ได้แพร่กระจายไปไกลอย่างน้อยก็ถึงกรุงปักกิ่ง เพราะพบซากดึกดำบรรพ์ของสิงโตอายุ 400,000 ปีบริเวณเดียวกับที่พบซากมนุษย์ปักกิ่งในโจวโข่วเตี้ยนซึ่งก็พบซากของเสือโคร่งเช่นกัน และยังพบภาพวาดของสิงโตตามถ้ำต่าง ๆ และซากดึกดำบรรพ์ที่มีอายุ 200,000 ปี แสดงว่าสิงโตพันธุ์นี้เคยอาศัยร่วมสมัยกับมนุษย์ยุคใหม่มาก่อน นอกจากนี้ยังเคยมีการพบกระดูกสิงโตคู่กับเครื่องมือของมนุษย์นีแอนเดอทรัลมาแล้วด้วย
ในทวีปอเมริกาก็เคยมีสิงโตเช่นกัน สิงโตอเมริกาเหนือ (Panthera atrox) มีรูปร่างคล้ายสิงโตถ้ำยุโรป พบซากดึกดำบรรพ์ของสิงโตพันธุ์นี้ตามไซบีเรียตะวันออก แอแลสกา และที่อื่นในทวีปอเมริกาเหนือ สิงโตอเมริกาอาศัยร่วมกับมนุษย์ หมาป่าไดร์วูล์ฟ (Canis dirus) ม้า และไบซันมาจนถึงราวปี 11,500 ปีก่อน เชื่อกันว่าสิงโตอเมริกาเหนือน่าจะอาศัยเป็นฝูงเช่นเดียวกับสิงโตในแอฟริกาปัจจุบัน
ในยุคไพลโตซีน เขตกระจายพันธุ์ของสิงโตแพร่ไปไกลเหนือสุดถึงอังกฤษ และทางตะวันออกสุดถึงปาเลสไตน์ อาหรับ และอินเดีย
ในศรีลังกา ปัจจุบันไม่มีทั้งสิงโตและเสือโคร่ง และไม่เคยมีการพบซากดึกดำบรรพ์ของสิงโตด้วย เคยมีการพบซากฟันของสิงโตเพียงซี่เดียวเท่านั้น แต่สิงโตได้อยู่ในวัฒนธรรมของศรีลังกาอย่างแน่นแฟ้น ไม่ว่าจะในตำนาน และศิลปะ แม้แต่ชื่อเชื้อชาติของชาวสิงหลซึ่งของชนส่วนใหญ่ของประเทศก็มีความหมายว่า สายเลือดสิงโต ด้วยเหตุนี้จึงเชื่อว่าสิงโตน่าจะเคยอาศัยอยู่ในศรีลังกาช่วงใดช่วงหนึ่ง
ที่อยู่อาศัยและเขตกระจายพันธุ์
เขตกระจายพันธุ์ของสิงโตในแอฟริกา
สิงโตอาศัยได้ในพื้นที่หลายประเภท พื้นที่ที่ชอบที่สุดคือทุ่งหญ้า ซาวันนา ป่าเปิดและป่าละเมาะ แต่ก็ยังพบได้ในพื้นที่ประเภทอื่นตั้งแต่กึ่งทะเลทรายและป่าทึบ ไม่พบในป่าทึบและกลางทะเลทรายซาฮารา และพบได้ในระดับความสูงตั้งแต่ระดับน้ำทะเลจนถึง 5,000 เมตรบนภูเขาในประเทศเคนยา
สิงโตเคยพบได้ทั่วทั้งทวีปแอฟริกา ในยุโรปทางตะวันออกเฉียงใต้ ตะวันออกกลาง จนถึงทางตอนเหนือของอินเดีย ในปัจจุบันพื้นที่กระจายพันธุ์หดเล็กลงไปมาก เหลือเพียงในพื้นที่กึ่งซาฮาราในทวีปแอฟริกา ฐานที่มั่นสำคัญอยู่ในพื้นที่อนุรักษ์หลายแห่งในแอฟริกาตะวันออก และส่วนในเอเชียเหลือเพียงแห่งเดียวคือป่าเกียร์ในประเทศอินเดีย คาดว่ามีอยู่ประมาณ 290-350 ตัว
เขตกระจายพันธุ์ของสิงโตในแอฟริกา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น